วิธีการตรวจสอบน้ำประปารั่วในบ้านด้วยตัวเอง
บางท่านอาจจะเคยประสบเหตุการณ์ที่อยู่ๆ ค่าน้ำประปาเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ หรือ ปั๊มน้ำทำงานเองทั้งๆ ที่ไม่มีใครใช้น้ำ เหตุการณ์เหล่านี้อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าน้ำประปาที่บ้านท่านรั่วไหลตรงไหนสักแห่ง ซึ่งการหาจุดที่น้ำประปารั่วนั้นก็เป็นเรื่องที่น่าปวดหัวอยู่พอสมควร บทความในครั้งนี้จึงจะขอแนะนำแนวทางคร่าวๆ ในการตรวจหาจุดที่น้ำประปารั่วเบื้องต้น ดังนี้
ขั้นแรก ตรวจสอบให้แน่ใจก่อนว่าจุดที่น้ำประปารั่วไม่ได้มาจากส่วนอื่นที่ไม่ใช่ท่อประปา โดยตรวจสอบบริเวณก๊อกน้ำทุกก๊อกว่าปิดสนิทไม่มีน้ำซึม ปั๊มน้ำไม่มีจุดรั่วซึม และตรวจเช็คสุขภัณฑ์ โดยเฉพาะชักโครก ซึ่งหากระบบลูกลอย หรือ ฟลัชวาล์วเสียจะทำให้น้ำไหลทิ้งตลอดเวลา
แต่หากมั่นใจแล้วว่าก๊อกน้ำและสุขภัณฑ์ไม่มีปัญหา และเมื่อปิดก๊อกและวาล์วที่สุขภัณฑ์ทุกจุดแล้วตรวจเช็คที่ มิเตอร์น้ำ หากพบว่ามิเตอร์น้ำยังหมุนอยู่ก็แน่ใจได้แล้วว่ามีท่อประปารั่วอย่างแน่นอน
หากท่อประปาที่บ้านเป็นแบบเดินลอย คือสามารถเห็นท่อได้ชัดเจนทุกจุด การตรวจสอบตำแหน่งรั่วจะทำได้ไม่ยาก แต่บ้านส่วนใหญ่ท่อประปามักจะถูกซ่อนในผนัง พื้น และฝ้าเพดานทำให้การตรวจสอบค่อนข้างยาก หากมีแบบแปลนการเดินท่อประปาจะช่วยได้มาก
การตรวจสอบในขั้นถัดมา ควรไล่ดูท่อประปาตามการแยกสาขาของท่อ โดยปิดวาล์วเช็คทีละส่วน เช่น ปิดวาล์วที่จ่ายน้ำชั้นบนก่อน หากมิเตอร์น้ำยังหมุนอยู่ ให้ลองสลับปิดวาล์วที่จ่ายน้ำชั้นล่าง หากมิเตอร์หยุดหมุนแสดงว่าจุดที่รั่วอยู่ภายในชั้นล่างของบ้าน และหากชั้นล่างมีวาล์วแยกอีก เช่น ในบ้านกับนอกบ้าน ก็ให้ลองสลับปิดวาล์วทีละส่วน ก็จะช่วยจำกัดวงของจุดที่น้ำรั่วได้แคบขึ้น
ขั้นสุดท้ายให้ลองตรวจสอบร่องรอยน้ำซึม ตามพื้น ผนัง และฝ้าเพดาน รวมถึงตรวจดูตามข้อต่อ ข้อต่อโค้งรูปแบบต่างๆ ของท่อ ซึ่งมักจะเป็นจุดที่รั่วได้ง่าย นอกจากนี้หากบ้านมีการต่อเติม เช่นต่อเติมครัว แล้วมีการเดินท่อประปาไปยังส่วนต่อเติม ให้ลองตรวจสอบท่อบริเวณรอยต่อของบ้าน เนื่องจากหากส่วนต่อเติมทรุดไม่เท่ากับบ้านก็อาจส่งผลให้ท่อบริเวณรอยต่อของบ้านเสียหายจนรั่วได้
สำหรับส่วนของท่อประปาที่อยู่ใต้ดิน และท่อประปาที่อยู่ในพื้นหรือผนัง จะเป็นส่วนที่ยากที่สุดในการหาจุดรั่ว ซึ่งอาจจะต้องเรียกช่างผู้ชำนาญการ หรือเจ้าหน้าที่จากการประปาที่มีเครื่องมือในการตรวจสอบให้มาช่วยตรวจหาจุดรั่ว โดยเมื่อพบจุดรั่วแล้วการซ่อมแซมอาจทำได้โดยตัดต่อท่อใหม่ หรือปะซ่อมแซมรูรั่ว ซึ่งหากจุดรั่วอยู่ในพื้นหรือผนังก็จำเป็นที่จะต้องทุบพื้นหรือผนังเพื่อซ่อมท่อ หรือหากไม่ต้องการทุบก็อาจจะทำการเดินท่อระบบใหม่แยกแล้วเชื่อมต่อเข้ากับท่อเก่าในส่วนที่ไม่รั่วก็ได้